Friday, November 17, 2017

ประเทศไทยในฝันแบบสังคมอารยะที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน (บทความชนะเลิศ รางวัลที่หนึ่ง)

บทความชนะเลิศการแข่งขันบทความสร้างเสริมจิตสำนึก
ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน 2013-4

ชื่อผู้แต่ง ไม่เปิดเผย

 “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกๆที่เขาตกอยู่ในพันธนาการ มีบางคนที่เชื่อว่าพวกเขาเป็นนายเหนือผู้อื่น แต่เขาก็เป็นทาสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่น”

นี่คือประโยคแรกในหนังสือ “สัญญาสังคม” (The Social Contract) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อว่า“สัญญาประชาคม” ของ ฌ็อง ฌ๊าก รุสโซ นักปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างที่ปรากฏเป็นคำขวัญว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ที่สั่นสะเทือนทั้งโลก นี่คือโจทก์ที่รุสโซกระตุ้นให้คิดทบทวนเกี่ยวกับปัญหาว่าด้วยสถานะของมนุษย์ในสังคมการเมืองที่ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนแห่งการกดขี่ รุสโซเชื่อว่ามนุษย์ในสภาวะธรรมชาติมีอิสระมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์โดยไม่อยู่ใต้ผู้อื่น เป็นผลให้ทุกคนเสมอภาคกันเพราะมีสถานะอย่างเดียวกัน หรือมนุษย์มีเสรีภาพและความเสมอภาคกันตามธรรมชาตินั่นเอง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งสภาพการณ์บังคับให้ต้องยกเลิกความเป็นอยู่ตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด จึงเป็นที่มาของการเกิดสังคมขึ้น เมื่อมนุษย์มาอยู่ในสังคมกลับตกเป็นทาสของสิ่งที่ตัวเองคิดค้นพัฒนาขึ้น ตกเป็นทาสของมนุษย์ด้วยกัน บางคนมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น มีเกียรติยศ อำนาจ มีการกดขี่บังคับ ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ ความเจริญก้าวหน้ากลับยิ่งทำให้มนุษย์อ่อนแอลง ตกอยู่ในพันธนาการจนไม่อาจมีเสรีภาพและความเสมอภาคที่เคยมีตามธรรมชาติได้ อย่างที่รุสโซเริ่มต้นประโยคแรกในหนังสือข้างต้น เมื่อความเลวร้ายอัตคัตขัดสนทั้งปวงล้วนเกิดจากมนุษย์ในสังคมด้วยกัน ทางแก้ปัญหาของรุสโซ คือ การสร้างสัญญาประชาคม/สัญญาสังคม ซึ่งก็คือการสร้างระเบียบสังคมการเมืองใหม่ให้สมาชิกประชาคม/สังคม คือ ประชาชนมีฐานะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดเพื่อทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากภาวะอันไม่พึงประสงค์ ได้เสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ตลอดจนความยุติธรรม ผลประโยชน์ทั้งปวงและสันติสุขกลับคืน หลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนที่รุสโซเสนอได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยที่อารยะประเทศใช้ในปัจจุบันหรือที่รู้จักกันในนามเสรีประชาธิปไตย(Liberal Democracy)

การสร้างสัญญาประชาคม/สัญญาสังคม คือ รูปแบบหนึ่งของการสร้างสังคมอุดมคติที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ในสมัยของรุสโซ คำว่า สิทธิมนุษยชน(Human Rights) ยังไม่ถูกนำมาใช้ คำว่า Human Rights เริ่มใช้ครั้งแรกโดยโทมัส เพน ในงานแปล(จากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอังกฤษ)คำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ค.ศ. 1789 ซึ่งเป็นผลผลิตของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่คำนี้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1947 ของสหประชาชาติ โดยการเสนอของเอเลียนอร์ รูสเวลท์ ภรรยาของประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลท์ เป็นที่น่าสังเกตว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ที่สหประชาชาติพยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นแนวทางปฏิบัตินั้นน่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดของรุสโซด้วย ดังที่ปรากฏในประโยคแรกของปฏิญญาสากล ข้อ 1 ว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเสรีและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ พวกเขาถูกสร้างให้มีเหตุผลและมโนธรรมสำนึกและควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นพี่น้อง”
ไม่เพียงแต่ปฏิญญาสากลเท่านั้น แต่ยังมีหลักสิทธิมนุษยชนอีกมากมายที่สหประชาชาติได้ประกาศใช้ บางฉบับมีสถานะเช่นเดียวกับปฏิญญาสากลคือไม่มีสภาพบังคับแต่เป็นแค่แนวทางให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ บางฉบับมีฐานะเป็นกฎหมายที่ผูกพันประเทศภาคีสมาชิก ฉบับที่สำคัญ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งสองฉบับรวมกันครอบคลุมสาระสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแทบทั้งหมดและมีส่วนที่ขยายเพิ่มเติมปฏิญญาสากลอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยได้รับเอาหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติทั้ง 3 ฉบับ มาใช้ ซึ่งมีผลผูกพันให้ต้องแก้ไขกฎหมายภายในให้สอดคล้อง โดยเฉพาะ 2 ฉบับหลัง ซึ่งนับว่าน่ายินดี แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยยังมีความล้าหลังห่างไกลจากที่สหประชาชาติกำหนดมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีประสบการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างสัมคมอาระก่อนหน้าที่จะมีปฏิญญาสากลนานพอสมควรแต่ยังไม่บรรลุผล
สังคมไทยในอุดมคติ จาก ฝันของชาวสยาม ถึง ฝันของประชาชนเสื้อแดง
ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติต่างแสวงหาสังคมอุดมคติของตัวเอง บ้างปรากฏในรูปของการต่อสู้โดยสันติ บ้างลงเอยด้วยการปฏิวัตินองเลือด ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย อาทิ การที่ทาสทำสงครามปลดแอกตนเองจากจักรวรรดิโรมันเมื่อกว่า 2 พันปีก่อน การปฏิวัติอังกฤษ 2 ครั้งในศตวรรษที่ 17 ครั้งแรกลงเอยด้วยการประหารกษัตริย์ ครั้งหลังลงเอยด้วยอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงถาวร การปฏิวัติอเมริกาครั้งแรกปลดแอกอเมริกาเป็นเอกราช ครั้งหลังปลดปล่อยทาสผิวดำเป็นอิสระ การปฏิวัติฝรั่งเศสที่สุดท้ายต้องยกเลิกกษัตริย์ไปอย่างถาวร การปฏิวัติลุกฮือของประชาชนทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกทุกประเทศเป็นประชาธิปไตยตราบทุกวันนี้ การลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับที่ถูกเรียกว่าอาหรับสปริงทำให้หลายประเทศได้ก้าวสู่ถนนประชาธิปไตย ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการต่อสู้อีกนับครั้งไม่ถ้วนที่ไม่ถูกกล่าวถึง ไม่ถูกบันทึก ของคนเล็กๆ ทุกๆการต่อสู้กับความอยุติธรรมล้วนแล้วแต่เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่ามนุษย์ไม่เคยหยุดแสวงหาชีวิตที่ดี สังคมการเมืองที่ดี และเป็นบทพิสูจน์ว่าธาตุแท้ของพวกเขาเหล่านั้นคือการเป็น “เสรีชน” ที่ไม่ยอมก้มหัวยอมแพ้ให้กับการกดขี่ข่มเหง ตลอดจนความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ 

สำหรับประเทศไทยมีความพยายามสร้างสังคมการเมืองในอุดมคติที่เคารพสิทธิมนุษยชนและอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนมากว่าร้อยปี ถึงวันนี้แม้ยังไม่บรรลุผลสำเร็จได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์แต่ก้าวมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับได้ ตราบใดที่ยังเชื่อมั่นในความก้าวหน้า ความฝันจะมีสังคมไทยอารยะที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนต้องเป็นจริงในท้ายที่สุด

ความฝันสู่ประชาธิปไตยครั้งแรกของสยาม เกิดขึ้นเมื่อ ร.ศ. 103(พ.ศ. 2428) เมื่อคณะเจ้านายและขุนนางนำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะ ทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานระบอบการปกครองที่มีระบบรัฐสภา กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด พระองค์ตอบสนองด้วยการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง สุดท้ายพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องลี้ภัยไปอยู่ลังกาจนกระทั่งรัชกาลที่ 5 สวรรคตจึงเสด็จกลับสยาม
ความฝันของคณะ ร.ศ. 130 เป็นความพยายามของคณะนายทหารหนุ่มแห่งกองทัพสยาม ซึ่งตระเตรียมใช้กำลังก่อการปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากทำสำเร็จก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่สถาบันกษัตริย์จะถูกยกเลิกเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ แต่พวกเขาถูกจับได้เสียก่อนเมื่อ ร.ศ. 130(พ.ศ. 2455) คณะนายทหารเหล่านั้นจึงต้องโทษติดคุกเป็นเวลาหลายปี บางคนตายในคุก แต่การเตรียมก่อการครั้งนั้นไม่ได้สูญเปล่าและกลายเป็นบทเรียนให้การก่อการปฏิวัติของคณะราษฎรในอีก 20 ปี ต่อมาสำเร็จลงได้
ความฝันของคณะราษฎร : ก้าวที่หนึ่งของระบอบประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ระบอบประชาธิปไตยของไทยเริ่มต้นนับก้าวที่หนึ่งเมื่อคณะราษฎรซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ข้าราชการ พลเรือน ทำการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนา 2475 ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สยามจึงเริ่มนับหนึ่งเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตามอย่างอารยะประเทศ คณะราษฎรแสดงเจตจำนงค์แน่วแน่ผ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่ามีเป้าหมายสร้างสังคมอุดมคติที่มีความสุขเความเจริญอย่างประเสริฐ เรียกว่า“ศรีอาริยะ” แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องสร้างระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมีอำนาจโดยแท้จริงเสียก่อน รวมทั้งวางหลักการเพื่อบรรลุเป้าหมายไว้เบื้องต้น 6 ประการ คือ รักษาเอกราช รักษาความปลอดภัยของประเทศ บำรุงความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษาอย่างทั่วถึง

สิ่งที่ตามมาหลังจากยึดอำนาจจากกษัตริย์ได้แล้วคือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐบาลบริหารประเทศ ฯลฯ ตลอดจนมีการปฏิรูปทั่วทุกด้านทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมตามมามากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอด 15 ปี ที่คณะราษฎรมีอำนาจ และสิ่งที่คณะราษฎรพยายามทำส่วนใหญ่เดินอยู่บนหนทางของประชาธิปไตยแบบสากลและสิทธิมนุษยชนที่อารยะประเทศยอมรับเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์
ความฝันของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ : สังคมอุดมคติที่ไม่มีประชาชน ระบอบประชาธิปไตยเพื่อไปสู่สังคมศรีอาริยะของคณะราษฎรเดินทางได้แค่ 15 ปี ก็ต้องจบลง ขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมซึ่งสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากการปฏิวัติ 2475 สามารถกลับมาทวงคืนอำนาจได้อีกครั้ง และสร้างระบอบใหม่ในอุดมคติของพวกเขาที่กลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมาแทนที่ ประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริงถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบ จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้เพียงรูปแบบเปลือกนอกเท่านั้น หากประชาชนเรียกร้องต้องการมากกว่านั้นก็ต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้ายจากการทำลายล้างทุกรูปแบบทั้งใช้อำนาจบังคับ ปราบปราม มอมเมาทางอุดมการณ์ ฯลฯ ขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติของฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของไทยล่าช้าออกไปอย่างน้อย 60 ปี
ความฝันครั้งใหม่ของประชาชน กับ ภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น จะว่าไปการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยไม่เคยสูญสิ้น จะมีมากน้อยอ่อนแอหรือเข้มแข็งแล้วแต่เงื่อนไขแต่ละยุคสมัย บางครั้งเข้มแข็งจนสามารถได้ชัยชนะครั้งใหญ่ เช่น ขบวนการ 14 ตุลา 16, ขบวนการพฤษภา 35 เป็นต้น เพียงแต่ฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่สามารถทำลายล้างฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยให้สิ้นซาก เพราะเมื่อฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยกลุ่มหนึ่งอ่อนแอลงไปก็จะมีกลุ่มใหม่ขึ้นมาแทนที่เสมอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอด 60 ปีมานี้ ฝ่ายประชาธิปไตยแทบไม่สามารถเข้าถึงใจกลางของปัญหาที่แท้จริงได้เลย อย่างไรก็ตาม แม้ชัยชนะของประชาชนแต่ละครั้งไม่ใช่ชัยชนะขั้นเด็ดขาด แต่ก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าตามมาเสมอ ตัวอย่างที่สำคัญคือ หลังปี 2535 เป็นต้นมา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกยกระดับไปสู่ความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้นขึ้น รวมทั้งยกระดับไปสู่การเรียกร้องในทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง การจัดสรรทรัพยากรมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งแสดงออกชัดเจนที่สุดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยเพราะไม่เพียงแต่มีการเรียกร้องที่เข้มข้นขึ้นเท่านั้น แต่ความสามารถของรัฐบาลจากการเลือกตั้งในการตอบสองความต้องการของประชาชนมีมากขึ้นด้วย จนมีคำเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยที่กินได้” แสดงให้เห็นว่าแม้ยังไม่ได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์แต่ก็มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น ประสิทธิภาพของรัฐบาลจากการเลือกตั้งในการตอบสนองทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอดของรัฐบาลมากขึ้นทุกที สะท้อนว่า ในอนาคตข้างหน้าประชาธิปไตยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสนองความต้องการของประชาชน แต่ต้องได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากพอจะตอบสนองประโยชน์สุขแก่คนทั้งประเทศด้วย แน่นอนว่า หากระบอบประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากพอย่อมส่งผลให้ตัวมันเองลงหลักปักฐานได้รวดเร็วและยั่งยืน
การต่อสู้อันยาวนานมีแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก้าวหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง ครึ่งๆ กลางๆ ขาดๆ เกินๆ เหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่อาจดับความฝันของคนไทยที่ต้องการประชาธิปไตยและสร้างสังคมอายะให้ยุติลงได้
การสืบทอดความฝันประชาธิปไตยสมบูรณ์ในปัจจุบัน : ประชาชนตื่นแล้วและจะไม่มีวันหลับใหลอีก นับแต่ปี 2548 จนถึงรัฐประหาร 2549 ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลและรัฐสภาจากการเลือกตั้ง ตุลาการภิวัฒน์ ยุบพรรคตัดสิทธิ์ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ล้อมปราบสังหารหมู่ปี 2552-53 ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน ใครเลยจะคิดว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะเดินทางมาไกลถึงเพียงนี้ ต้องนับว่าไกลที่สุดนับตั้งแต่คณะราษฎรหมดอำนาจก็ว่าได้ เพราะว่าสามารถรุกล้ำเข้าไปใจกลางของปัญหาที่แท้จริงได้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุดคือการต่อสู้ในปัจจุบันขยายตัวไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่ากว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนยิ่งกว่าสมัยใด และยังคงมีพัฒนาการไปได้เรื่อยๆทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แม้ว่าต้องแลกด้วยเลือดเนื้อชีวิตและอิสรภาพของประชาชนนับร้อยนับพัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวบางทีถูกเรียกขานว่า “ตาสว่าง” ซึ่งไม่เพียงประชาชนจะรู้ที่มาที่ไปต้นเหตุของปัญหา ไม่เพียงรู้ว่าใครสั่งฆ่าประชาชน ไม่เพียงรู้ว่าปัญหาในอดีตอันยาวนานกว่า 60 ปี มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครบ้างคือตัวปัญหา หากแต่ประชาชนก้าวไปไกลถึงขั้นตรวจสอบความคิดของตนเองอย่างเข้มข้น ตั้งคำถามกับทุกสิ่งในชีวิตประจำวันไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือสถาบันการเมืองทุกสถาบันทั้งกองทัพ ตุลาการ องคมนตรี รัฐบาล ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี สมาชิกพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน นายทุน พระ นักแสดง ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันกษัตริย์ก็ถูกตั้งคำถาม ถูกตรวจสอบ พูดง่ายๆว่าแทบไม่มีใครรอดพ้นจากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนพร้อมใจกันเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือประชาธิปไตยแบบสากลที่อารยะประเทศยึดถือ แม้ประชาชนส่วนมากไม่ได้ระบุตรงๆว่า คือ ระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องตลอดเวลาว่าต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ต้องการประชาธิปไตยแบบสากล รวมถึงเรียกร้องการเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อเจาะลงในรายละเอียดรูปธรรมจะพบว่า สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยแบบสากลหรือเสรีประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น และสิ่งเหล่านั้นล้วนสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ อาทิ ประชาชนเรียกร้องอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทุกคน รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เคารพเสียงข้างมาก ความเสมอภาค หลักนิติธรรม เคารพสิทธิและเสรีภาพ รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพตอบสนองต่อประชาชน เรียกร้องการตรวจสอบถ่วงดุลของอำนาจอธิปไตยทั้งสามอย่างแท้จริง ตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชน วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง  ไม่เลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน พิจารณาคดีเป็นธรรม ไม่ยุบพรรคตัดสิทธิ์ ไม่ใช้อำนาจนอกระบบแทรกแซง กองทัพต้องอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลพลเรือน หรือแม้กระทั่งเรียกร้องยกเลิกองคมนตรี การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตลอดจนต่อสู้เรียกร้องให้เปลี่ยนแนวคิดที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ฯลฯ
โดยสรุปแล้วการต่อสู้ของประชาชนในปัจจุบันเป็นการต่อสู้เพื่อค้นหารูปแบบการปกครองที่เปิดกว้างมากพอสำหรับคนทุกคนซึ่งในที่นี้คือ ระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะเป็นรูปแบบการปกครองที่จะทำให้สังคมอารยะที่เคารพสิทธิมนุษยชนมีความเป็นไปได้ เพราะมีที่ว่างมากพอสำหรับให้ทุกคนใส่รายละเอียดของตัวเองลงไป เพียงแต่ต้องยอมรับหลักการพื้นฐานที่เป็นแก่นแกนของระบอบนี้เป็นเบื้องต้นเสียก่อน และรายละเอียดที่แต่ละคนแต่งเติมลงไปต้องไม่ขัดหลักการพื้นฐานที่เป็นแก่นแกนเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกันสามารถเป็นรัฐบาลปกครองประเทศได้ ฝรั่งเศสมีพรรคคอมมิวนิสต์ได้ หลายประเทศมีพรรคแนวสังคมประชาธิปไตยที่สนับสนุนให้มีรัฐสวัสดิการ ประเทศประชาธิปไตยแท้จริงยอมรับสิทธิของคนหลากหลายเพศ ไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ฯลฯ และประการสำคัญทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในฐานะเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของสังคมอารยะร่วมกันในท้ายที่สุด
แม้ระยะเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตย จะกินเวลายาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ แต่โลกปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นที่ทำให้ระบอบการปกครองที่มุ่งควบคุม กดขี่ บังคับ ให้คนอยู่ในกรอบ ไม่สามารถทำได้เบ็ดเสร็จอีกต่อไป การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันจะไม่มีวันถูกทำลายได้โดยง่าย ประการสำคัญคือประชาชนต้องเดินหน้าต่อไปในหนทางของประชาธิปไตยสานต่อสิ่งที่คณะราษฎรได้ปูทางไว้ตั้งแต่ปี 2475 และมีหลายสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์และก้าวหน้ายิ่งกว่าคณะราษฎรเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างแท้จริง
บทสรุป

การสร้างสังคมไทยอารยะที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนให้สำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างเงื่อนไขพื้นฐานด้วยการสร้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยเสียก่อน แต่การจะไปถึงรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่สังคมอารยะที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนได้จะต้องปฏิรูปอย่างถึงรากทั่วทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและมีอำนาจได้เท่าที่ไม่ขัดหลักการประชาธิปไตย ยกเลิกองคมนตรี อำนาจตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชน ส.. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งมีอำนาจควบคุมกองทัพ ปฏิรูปทางความคิด ยกเลิกระบบวิธีคิดที่ล้าหลัง ไม่เสมอภาค ศักดินา ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ให้เป็นธรรมมากขึ้นให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น ฯลฯ การปฏิรูปแบบถึงรากทั่วทุกด้านดังกล่าวข้างต้นเรียกอีกอย่างว่า “การสร้างสัญญาประชาคมใหม่” ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และการทำได้ถึงขั้นที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ “การปฏิวัติสังคม” นั่นเอง แต่การเปลี่ยนผ่านจากสังคมเผด็จการศักดินาอำมาตยาธิปไตยไปสู่สังคมอารยะโดยการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินดังกล่าว แม้ในทางทฤษฎีจะสามารถทำได้โดยสันติ แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่าส่วนใหญ่จากประสบการณ์ของมนุษยชาติและของไทยเองในอดีต ผู้กุมอำนาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงโดยง่าย ผลจึงลงเอยด้วยการนองเลือดหรือสงครามกลางเมืองเสมอ


มนุษยชาติทุกผู้ทุกนามต่างมีความฝันถึงสังคมในอุดมคติหรือสังคมอารยะของตัวเองจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ถ้าเป็นนักคิดนักปรัชญาก็มักจะตั้งคำถามเป็นเบื้องต้นว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร สังคมที่ดีคืออะไร แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไปก็คงจะถามทำนองว่าอยากมีชีวิตอย่างไร ประกอบอาชีพอะไร อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไรมากน้อยแค่ไหน อยากมีการศึกษาถึงขั้นไหน อยากมีรายได้เท่าไหร่ อยากมีครอบครัวมีลูกกี่คน ฯลฯ สำหรับผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันได้คำตอบแล้วว่าพวกเขาจะสร้างสังคมอารยะกันอย่างไร คำตอบคือก่อนอื่นต้องได้ระบอบการเมืองการปกครองที่เปิดกว้างมากพอที่จะสร้างสังคมอารยะเสียก่อน ระบอบที่ว่านั้นคือ เสรีประชาธิปไตย ถ้าการปฏิวัติคือหนทางเดียวที่จะได้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมอารยะให้เป็นจริงได้ การนองเลือดที่เคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า อาจจำเป็นต้องเกิดขึ้นอีกจนกว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์และสังคมอารยะที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนจะเป็นจริง###

No comments:

Post a Comment